ประวัติวิทยาลัย

      วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ เดิมเป็นโรงเรียนผดุงครรภ์แห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งตามพระราชดำริของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร
อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ในปี พ.ศ. 2474 ชื่อโรงเรียนผดุงครรภ์วชิระ โดยตั้งอยู่ในวชิรพยาบาล

พ.ศ. 2485 วิทยาลัยได้โอนสังกัดไปอยู่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
พ.ศ. 2494 ได้พัฒนามาเป็นโรงเรียนผดุงครรภ์ ใช้ชื่อว่าโรงเรียนผดุงครรภ์อนามัยวชิระ
พ.ศ. 2508 ได้มีการพัฒนามาเป็นโรงเรียนผดุงครรภ์อนามัยวชิระ สังกัดกรมอนามัย
พ.ศ. 2530 ได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์วชิระ สังกัดศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเขต 1 กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข
พ.ศ. 2536 วิทยาลัยได้โอนจากกรมอนามัยมาสังกัดสถาบันพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข ซึ่งต่อมา ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า สถาบันพระบรมราชชนก และใช้มาจนถึงปัจจุบัน 

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 วิทยาลัยได้รับพระราชทานนามว่า “วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี” และมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระนามาภิไธย สว. เป็นตราประจำวิทยาลัย ขณะนั้นยังคงอยู่ในพื้นที่เดียวกับวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ซึ่งมีพื้นที่จำกัดทำให้ไม่สามารถพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางกายภาพได้

ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 อาจารย์เพ็ญพรรณ รักเสนาะ ผู้อำนวยการวิทยาลัยในขณะนั้น ได้ประสานกับนายแพทย์เสกสม สุวรรณกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และนายแพทย์ยุทธ โพธารามิกรองอธิบดีกรมการแพทย์ ให้ย้ายวิทยาลัยมาอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 

ในโอกาสนี้สถาบันพระบรมราชชนกจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ชื่อวิทยาลัยว่า “วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ” โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระบรมราชาอนุญาต เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2539 และถือเป็นวันแห่งการสถาปนาวิทยาลัยสืบต่อมา

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2541 วิทยาลัยได้ย้ายมาอยู่ภายในพื้นที่เดียวกับโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี สถานที่ตั้ง คือ เลขที่ 681 ถนนรามอินทรา แขวงคันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร 10230 มีพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ โดย ดร.ละเอียด แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยในขณะนั้น และนายแพทย์ชาตรี บานชื่น ผู้อำนวยการ
โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ได้ร่วมกันวางกรอบแนวคิดสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาลัยกับโรงพยาบาลให้เป็นสถาบันคู่แฝดร่วมกันผลิตและพัฒนากำลังคนสาขาพยาบาลศาสตร์ซึ่งความสัมพันธ์เชิงกัลยาณมิตรนี้ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2541 

ต่อมาวิทยาลัยได้ดำเนินการเพื่อขอเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อประสาทปริญญาพยาบาลศาสตรบัณฑิต ทั้งนี้สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีมติรับเป็นสถาบันสบทบ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 และได้มีพระราชกฤษฎีกาให้วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ เป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี พ.ศ. 2546 (พรก. เล่ม 120 ตอนที่ 35 ก. ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2546)

และในปี พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดชสยามินทราธิเบศรราชวโรดมบรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยสถาบันพระบรมราชชนกจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. 2562 ขึ้นไว้และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 136 ตอนที่ 43 ก เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562 ให้สถาบันพระบรมราชชนกเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของกระทรวงสาธารณสุขแห่งแรก มีสถานะเป็นนิติบุลคล มีภารกิจหลักในการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางด้านสุขภาพ และเป็นสถานศึกษาเฉพาะทางด้านสุขภาพที่จัดการศึกษาระดับปริญญาด้านการพยาบาลการสาธารณสุขและสหเวชศาสตร์